ประวัติความเป็นมา

ประวัติความเป็นมาของเครือข่ายจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย

พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 มาตรา11 กำหนดไว้ว่า ส่วนราชการมีหน้าที่พัฒนาความรู้ในส่วนราชการ เพื่อให้มีลักษณะเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้

โดยต้องรับรู้ข้อมูลข่าวสารและสามารถประมวลผลความรู้ในด้านต่างๆ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติราชการได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว เหมาะสมกับสถานการณ์ รวมทั้งต้องส่งเสริมและพัฒนาความรู้ ความสามารถ สร้างวิสัยทัศน์ และปรับเปลี่ยนทัศนคติของข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง ในสังกัดให้เป็นบุคลากรที่มีประสิทธิภาพและมีการเรียนรู้ร่วมกันมหาวิทยาลัยเป็นองค์กรที่มีองค์ความรู้เกิดขึ้นมากมาย ทั้งความรู้        ที่ชัดแจ้งและความรู้ที่ฝังอยู่ในบุคคล เช่น เทคนิคการสอนและวิธีการถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักศึกษา เทคนิคการวัดและประเมินผลการศึกษา แนวคิดและวิธีการบริหารจัดการงานวิจัย การบริหารจัดการหลักสูตร      และโครงการต่างๆ ให้ประสบผลสำเร็จ ตลอดจนการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในหน่วยงาน ดังนั้น กระบวนการที่เป็นการถ่ายทอดและสนับสนุนให้บุคลากรในองค์กรได้เข้าใจและเรียนรู้จากกันและกัน         โดยผ่านกระบวนการเสวนา อภิปราย สร้างเครือข่ายหรือกลุ่มผู้ปฏิบัติ (Community of practice) อันจะเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างยิ่งที่จะส่งผลให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ในหน่วยงานอย่างต่อเนื่อง และพัฒนาไป          สู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้อย่างแท้จริง

การจัดการความรู้ในองค์กร (Knowledge Management หรือ KM) เป็นกระบวนการในการรวบรวมองค์ความรู้ที่มีอยู่ในองค์กรต่างๆ ที่กระจัดกระจายอยู่หลายๆ แห่ง เช่น ตัวบุคคลหรือเอกสาร แล้วนำองค์ความรู้เหล่านั้นมาผ่านกระบวนการและจัดให้เป็นระบบ เพื่อให้บุคลากรสามารถเข้าถึงความรู้ได้ง่ายขึ้น     และเกิดการพัฒนาตนเองจนเป็นผู้รู้ แล้วนำความรู้ไปใช้ในการปฏิบัติงานเพื่อพัฒนางานได้อย่าง                 มีประสิทธิภาพต่อไป ทำให้เกิดการพัฒนาฐานความรู้เป็นทุนปัญญาขององค์กรอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization หรือ LO) และสามารถเพิ่มสมรรถนะในเชิงแข่งขันได้สูงสุด

UKM (University Knowledge Management Network) เป็นเครือข่ายจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัยที่ร่วมกันก่อตั้งขึ้นเอง (Self-organize) ด้วยความสมัครใจ เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2547 ภายใต้การรวมตัวของ 5 มหาวิทยาลัย กับ 1 สถาบันด้วย ซึ่งประกอบด้วย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และสถาบันส่งเสริมการ        จัดการความรู้เพื่อสังคม ต่อมาในวันที่ 24 – 25 มิถุนายน 2548 ได้มีสมาชิกเพิ่มขึ้นอีก 2 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และมหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม

ช่วงระยะเวลามากกว่า 10 ปี ที่ผ่านมา (พ.ศ. 2548 – 2558) ได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเครือข่ายจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัยมาแล้ว 3 ฉบับ และมีการจัดเสวนาเครือข่ายจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัยขึ้นนับถึงเดือนกันยายน 2558 รวมทั้งสิ้น 31 ครั้ง โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริม สนับสนุนการจัด     การความรู้ การแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ การจัดการความรู้ระหว่างสถาบันของสมาชิกเครือข่าย            มีการแสวงหา ศึกษาและเรียนรู้เครื่องมือที่ใช้ในการจัดการความรู้ ร่วมปรึกษาหารือ  และจัดทำแผนงาน/โครงการ  ศึกษาวิจัย จัดสัมมนา ฝึกอบรม จัดทำฐานข้อมูลและวิธีการต่างๆ เนื่องจากมหาวิทยาลัยสมาชิก ได้เล็งเห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นทั้งแก่สถาบันการศึกษา ชุมชนและสังคมของประเทศ

การดำเนินการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเครือข่ายการจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย (MOU) กำหนดให้มีในทุกๆ 3 ปี ซึ่งในปี 2554 เป็นปีสิ้นสุดของบันทึกข้อตกลงใน ฉบับที่ 2 ได้ดำเนินการให้มีการลงนามใน MOU ฉบับที่ 3 ในเดือนสิงหาคม 2555 และจะดำเนินการลงนามใน MOU ฉบับที่ 4 ในเดือนเมษายน2559 โดยในการลงนามในครั้งนี้มีสถาบันเครือข่ายร่วมลงนาม 6 สถาบัน ประกอบด้วยมหาวิทยาลัยมหิดล  มหาวิทยาลัยขอนแก่น  มหาวิทยาลัยนเรศวร  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม